วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

                                  การจัดระบบการเรียนการสอน
  การเรียนการสอน
                หมายถึง  การจัดสถานการณ์  (SITUATION)   สภาพการณ์   (CONDITION)  หรือกิจกรรม  (ACTIVITIES)  เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์  อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยสะดวกและง่ายดาย  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามและพัฒนาทั้งทางกาย สมอง อารมณ์  และสังคม ซึ่งครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนเหล่านี้
ทัศนะของการเรียนการสอน   แบ่งได้  3 ทัศนะใหญ่ คือ
              1.ความหมายของการสอนที่เกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ
             2.ความหมายของการสอนเกี่ยวกับทักษะ
            3.ความหมายของการสอนที่เกี่ยวกับความเจริญงอกงาม
1)     ความหมายของการสอนที่เกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ
           หมายถึง    การถ่ายทอดความรู้เป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนให้แก่ผู้เรียน  การแนะแนว  ให้ศึกษาให้ค้นคว้า  ให้รู้วิธีที่จะได้ความรู้ด้วยตนเอง  โดยการค้นหาจากแหล่งที่ถูกต้อง  ใช้วิธีค้นหาที่เหมาะสม  ตลอดจนการจัดประสบการณ์และกิจกรรมต่างๆให้กับผู้เรียน  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้วยเพื่อแก้ความเข้าใจผิดให้เข้าใจถูก   ทำสิ่งที่ไม่ชัดเจนให้ชัดเจน
2)     ความหมายของการสอนเกี่ยวกับทักษะ
          หมายถึง    การฝึกฝนสมรรถภาพในการศึกษา  เพื่อให้เกิดเป็นนิสัยฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ  และแก้ไขการฝึกฝนที่ผิดด้วยวิธีให้ถูก        

 3)     ความหมายของการสอนที่เกี่ยวกับความเจริญงอกงาม
           หมายถึง      การส่งเสริมความเจริญงอกงามทุกวิถีทางให้แก่ผู้เรียน    ทั้งทางด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม  สติปัญญา  ความคิด   ทัศนคติ  อุปนิสัย  รวมทั้งความประพฤติและความสามารถในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมต่อไป
    การเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้กระบวนการ  หรือวิธีการหาความรู้ไปพร้อมๆกันกับความรู้อันเป็นผล  เพราะการที่คนจะก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง  คนทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  หรือเรียกอีกอย่างว่า  ต้อง เป็นผู้ศึกษาตลอดชีวิต   จึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องสร้างนิสัยในการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ผู้เรียนด้วย   โดยโรงเรียนต้องคำนึงถึง  วิธีสอน   วิธีเรียน    มีความสำคัญไม่น้อยกว่าผลการเรียน
    การเรียนการสอน  ย่อมประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลายด้าน  องค์ประกอบต่างๆนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบแบบแผน   ความสัมพันธ์ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบนี้จึงเรียกการเรียนการสอนนี้ว่า    กระบวนการเรียนการสอน
    กล่าวโดยสรุปได้ว่า  การเรียนการสอนเป็นกระบวนการในการให้ความรู้ที่กำหนด-จุดประสงค์แน่นอน  และมีองค์ประกอบอื่นๆมาเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
องค์ประกอบในการเรียนการสอน   มี  2   ด้าน คือ
   1.องค์ประกอบในการเรียนการสอนด้านตัวครู
  2.องค์ประกอบในการเรียนการสอนด้านผู้เรียน



(1)    องค์ประกอบในการเรียนการสอนด้านตัวครู
          ในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในชาตินั้น  ได้ยึดระบบการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2535   ซึ่งเป็นระบบที่ให้บุคคลได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โดยจัดรูปแบบการเรียนรู้ตามแนวระบบโรงเรียน   และการศึกษาที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในวิถีชีวิต   โดยมีระบบดังต่อไปนี้
1.            ระบบการศึกษา
         สำหรับการศึกษาตามแนวระบบโรงเรียน   แบ่งระดับการศึกษาเป็น  4   ระดับ  คือ  ระดับก่อนประถมศึกษา  ระดับประถมศึกษา   ระดับมัธยมศึกษา   และระดับอุดมศึกษา
1.            การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา
     เป็นการศึกษาในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดู  และพัฒนาความพร้อมของเด็กทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  บุคลิกภาพ  และสังคมเพื่อรับการศึกษาในระดับต่อไป   การจัดการเรียนรู้ในระดับนี้  เป็นการจัดให้แก่เด็กกลุ่มอายุ  3-5   ปี   โดยจัดเป็นชั้นอนุบาล   หรือชั้นเด็กเล็ก   หรือศูนย์พัฒนาเด็กประเภทต่างๆตามลักษณะพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย
2.            การศึกษาระดับประถมศึกษา
    เป็นการศึกษาภาคบังคับ  ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาระดับนี้อย่างทั่วถึง  เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ทั้งคุณธรรม  จริยธรรม   ความรู้และความสามารถขั้นพื้นฐาน  โดยจัดเป็นชั้น ป.1-6   รวม  6  ปี
3.            การศึกษาระดับมัธยมศึกษา     แบ่งออกเป็น   2  ตอน
          -ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   การศึกษาระดับนี้  รัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชน  และรณรงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับนี้อย่างทั่วถึง  โดยจัดเป็นชั้น  ม.1-3 (3  ปี)  มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณภาพ  ความรู้  ความสามารถ  และทักษะต่อจากระดับประถม  การศึกษาในระดับนี้ต้องการให้เรียนได้สำรวจตนเองทั้งในด้านความต้องการ  ความสนใจ  และความถนัดทางด้านวิชาการและวิชาชีพ
          -ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   การศึกษาในระดับนี้  มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด  และความสนใจ  เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  หรือเพื่อการประกอบอาชีพ  โดยจัดเป็น  2   ประเภท คือ จัดเป็นการศึกษาสามัญ ชั้นปีที่ 4-5-6 (3 ปี) สำหรับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา   หรือ   มหาวิทยาลัยต่างๆ และจัดเป็น-การศึกษาวิชาชีพ   หรืออาชีวศึกษาชั้น   ปวช .1-2-3(3 ปี)   สำหรับการประกอบการงานและ อาชีพ  หรือศึกษาต่อในระดับสูง(ปวส. ปวท. หรืออนุปริญญา/ปริญญาตรี)
4.   การศึกษาระดับอุดมศึกษา
          เป็นการศึกษาหลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   แบ่งออกเป็น  3   ระดับ   คือ
-                   ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
        มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพในระดับกลางหรืออนุปริญญา(2  ปี) 
-                   ระดับปริญญาตรี
       มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้   ความสามารถในสาขาต่างๆในระดับสูง  โดยประยุกต์ทฤษฎีนำไปสู่การปฏิบัติ
-                   ระดับสูงกว่าปริญญาตรี
      มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้  และทักษะในสาขาเฉพาะทางให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น   สร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ   โดยเฉพาะการศึกษา-ค้นคว้าวิจัย  และการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ  เพื่อการประยุกต์ใช้กับวิทยาการสากล  และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย   การศึกษาในระดับนี้  ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา  โดยจัดหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก 
ส่วนประกอบของระบบ
           ระบบประกอบด้วยส่วนสำคัญมี  4   ประการ   และมีความสัมพันธ์กัน   คือ
1.     ตัวป้อน          ( Input )
2.     กระบวนการ   ( Process )
3.     ผลผลิต          ( Out  put )
4.     ข้อมูลป้อนกลับ    ( Feed  back )

2.              ระบบการเรียนการสอน
ความสำคัญของระบบการเรียนการสอน 
1.การทำงานอย่างเป็นระบบนั้นสิ่งต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของระบบ จะอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบ   ไม่มีความสับสน   และไม่มีความขัดแย้งกันในองค์ประกอบเหล่านั้น
2.การทำงานอย่างเป็นระบบจะเป็นไปได้ด้วยความสะดวก   รวดเร็ว   ประหยัดทั้งแรงงาน  เวลา และค่าใช้จ่าย
3.งานทุกอย่างจะสำเร็จตามเป้าหมายและได้ผลอย่างเต็มที่
4.การสอนอย่างเป็นระบบนั้นเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ทดลองได้
       ระบบการเรียนการสอน  เป็นระบบย่อยในระบบการศึกษา  หรือระบบโรงเรียน  ระบบการเรียนการสอนประกอบด้วยส่วนย่อยต่างๆซึ่งมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน  ส่วนที่สำคัญ คือ  กระบวนการเรียนการสอน  ผู้สอนและผู้เรียนการเรียนการสอนจะมี  -ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด  จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในส่วนต่างๆในระบบ
 การตรวจสอบของประสิทธิภาพของการเรียนการสอนนั้นได้โดยการประเมินผล  และเมื่อผลที่ออกมายังมีข้อบกพร่องก็จะต้องไปปรับปรุงส่วนประกอบในระบบต่างๆต่อไป
องค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนการสอน
           ในกระบวนการเรียนการสอนทุกระดับ   จะประกอบด้วย  5   องค์ประกอบ   คือ
-                   องค์ประกอบที่ 1  ผู้สอน
     ผู้สอนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนมาก  จนถึงกับมีความเชื่อกันว่าผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สูงกว่าผู้เรียนมากจึงจะเกิดผลดีแก่การถ่ายทอดความรู้  ถ้าผู้เรียนกับผู้สอนมีความรู้เสมอกัน  การถ่ายทอดความรู้ก็จะไม่เกิดผล
-                   องค์ประกอบที่ 2  ผู้เรียน
     องค์ประกอบที่ผู้เรียนนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการเรียนการสอนมาก  ก่อนที่ผู้สอนจะลงมือทำการสอนจะต้องศึกษาผู้เรียนให้ละเอียดทุกด้านก่อนที่จะลงมือสอน  และในขณะเดียวกันผู้สอนจะต้องศึกษาตนเองคือ  ศึกษาหาความรู้  และยุทธวิธีที่จะนำไปใช้ในการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในแนวทางที่ต้องการ
-                   องค์ประกอบที่ 3  หลักสูตร
     หลักสูตรเปรียบเสมือนเข็มทิศ หรือ แผนที่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในกระบวนการเรียนการสอนที่จะบ่งบอกให้ผู้เรียนได้รับทราบว่าจะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้



-                   องค์ประกอบที่ 4  สื่อการสอน
      สื่อการเรียนการสอน   หมายถึง  เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลาย เช่น ชอล์ค กระดานดำ  แผนภูมิ  แผ่นภาพ  ตำราวารสาร  หนังสือ  ฯลฯ  วิธีการใช้สื่อการเรียนการสอนจะต้องใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียน และสอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้เรียนและผู้สอนด้วย
-                   องค์ประกอบที่ 5  การวัดและการประเมินผล
               องค์ประกอบของการเรียนการสอนที่สำคัญประการสุดท้ายนี้ก็คือการวัดผลและประเมินผล  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์ประกอบในการเรียนการสอน  ในแผนภูมิที่ 11  จึงจัดเอาการวัดผลประเมินผลไว้ตรงกลาง และเชื่อมโยงลูกศรไปยังองค์ประกอบอื่นๆอีก   4  ด้าน   การวัดผลประเมินผลในองค์ประกอบการเรียนการสอนนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก  และจะใช้ข้อมูลย้อนกลับ (Feed  back) ไปสู่การปรับปรุงทั้งผู้สอน  ผู้เรียน  หลักสูตร  และสื่อการเรียนการสอน
            ในการจัดการเรียนการสอนนั้น   รูปแบบและระบบการเรียนการสอนรวมทั้งขั้นตอนกระบวนการรูปแบบการเรียนการสอนจะช่วยให้การสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล  ทำให้ครูและนักเรียนเห็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กัน  ประหยัดเวลา  งบประมาณและประเมินผลได้สะดวก  ซึ่งทำให้เห็นข้อบกพร่องของการดำเนินงานและสามารถปรับปรุงได้
(2)     องค์ประกอบในการเรียนการสอนด้านผู้เรียน
    ผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบการเรียนการสอนที่ขาดไม่ได้   ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจลักษณะของผู้เรียนในด้านต่างๆเป็นอย่างดี  เช่น  ความแตกต่างระหว่างบุคคล  ความสนใจ  ความต้องการ  เป็นต้น   เพื่อที่จะได้ดำเนินการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียน  ซึ่งเป็นผลทำให้การเรียนการสอนบรรลุตามจุดมุ่งหมายตามที่วางไว้
 1.ผลดีของการรู้จักผู้เรียน
-ช่วยในการกำหนดจุดมุ่งหมายของการสอนให้มีความเหมาะสม
-ช่วยให้กำหนดเนื้อหาวิชาที่จะนำมาสอนเป็นไปได้อย่างเหมาะสมกับระดับความรู้  และความสามารถของผู้เรียน
-ช่วยใช้ในการแบ่งกลุ่มผู้เรียน  หรือ  มอบหมายงานให้เหมาะสมกับความรู้   ความสามารถ  และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน
-ช่วยให้ผู้สอนรู้ว่าระหว่างการเรียนการสอนควรที่จะช่วยผู้เรียนกลุ่มใด  หรือคนใดเป็นกรณีพิเศษ  เพื่อที่จะทำให้สามารถเรียนรู้ได้ทันผู้อื่น
2.การเตรียมผู้เรียนให้เรียนให้เกิดความพร้อม
      ความพร้อม  หมายถึง  ความสามารถที่จะเรียนรู้  ความพร้อมในการเรียนของเด็กจะขึ้นอยู่กับ  ระดับวุฒิภาวะทางร่างกาย   สติปัญญา ตลอดจนความสามารถที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้สิ่งนั้นๆ  การเตรียมให้ผู้เรียนเกิดความพร้อม  มี   3   ลักษณะ   คือ
1.การเตรียมทางด้านสิ่งแวดล้อมทางกาย   ได้แก่
-การจัดที่นั่งเพื่อสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นถัดไป
-การจัดอุปกรณ์การเรียนสำหรับกลุ่ม  หรือสำหรับรายบุคคล
-การแนะนำวิธีการเฉพาะอย่างของกิจกรรมที่กำลังจะทำ
2.การเตรียมทางด้านสติปัญญาหรือความคิด
-การสัมพันธ์สิ่งใกล้ตัวไปหาความรู้ใหม่
-การทบทวนความรู้เก่าที่จะนำไปใช้ในเรื่องใหม่
-การแนะนำหัวข้อสำคัญในการเรียน
-การสมมุติเรื่องเพื่อให้ผู้เรียนตั้งใจคิดตอบสนองต่อบทเรียน
3.การเตรียมด้านความสนใจและอารมณ์
        บรรยากาศในการเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก   นอกจากบุคลิกภาพของครู  อาจจะใช้วิธีเหล่านี้เพื่อการเร้าความสนใจ
-เสนอวัสดุอุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเรื่องที่จะสอน
-ให้นักเรียนทำกิจกรรมบางอย่างให้สัมพันธ์บทเรียน
3.การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน
       บรรยากาศในชั้นเรียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการกระบวนการการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างราบรื่น  และมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยา  ซึ่งผู้สอนเป็นผู้ที่กำหนดให้มีขึ้น     บรรยากาศทางกายภาพ  ได้แก่  อาคารสถานที่   ห้องเรียน   และสื่อการเรียนการสอน    ส่วนบรรยากาศทางสังคมนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ครูต้องคำนึงถึงด้วย   เพราะจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อกระบวนการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
   ผู้สอนเป็นบุคคลที่สำคัญในการที่จะวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นได้จากการสร้างบรรยากาศต่อไปนี้
1.บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด
2.บรรยากาศที่มีความอบอุ่น
3.บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ
4.บรรยากาศแห่งความสำเร็จ
5.บรรยากาศที่ท้าทาย
6.บรรยากาศที่อิสระ
7.บรรยากาศแห่งการควบคุม
4.วินัย   (discipline)
     ลักษณะของวินัยที่ดี
1.            วินัยที่ดีนั้น  จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ปฏิบัติ   ในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ
2.            การรู้ให้สิทธิ  และหน้าที่ของตนและผู้อื่น
3.            มีความสามัคคีและปรองดองในหมู่คณะ
4.            มีความเคารพซึ่งกันและกัน   ระหว่างครูกับนักเรียน    และนักเรียนกับนักเรียน
5.            เด็กจะมีความเจริญงอกงามทุกวิถีทาง  ทั้งทางกาย  สมอง  อารมณ์และสังคม
6.            จะรู้จักบังคับตนเองให้มีระเบียบ   ศีลธรรม   วัฒนธรรม   มารยาที่ดี   คือการสร้างวินัยในตนเอง
 5.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
         ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน   ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1.            บุคลิกภาพของผู้สอน
2.            การวางตัวต่อผู้เรียน
3.            การปฏิบัติการสอน

1.              บุคลิกภาพของผู้สอน
      เป็นสิ่งที่จูงใจให้ผู้เรียนมีความคิด  และความรู้สึกที่ดีต่อโรงเรียนจากการสัมภาษณ์  และการสังเกตในห้องเรียนปรากฏว่า   ผู้เรียนชอบเรียนกับผู้สอนที่มีบุคลิกภาพดี  พูดจาที่-ไพเราะ    รู้จักเอาใจใส่ผู้เรียน   เป็นมิตรที่ดี  มีความยุติธรรม   เข้าใจถึงความต้องการของแต่ละบุคคล  และเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ   เป็นผู้ที่มีอารมณ์ขัน   และผู้เรียนจะเคารพผู้สอนที่มีความสุภาพ   รักษาความเที่ยงตรง   ทำตัวถูกกาลเทศะ
2.            การวางตัวต่อผู้เรียน
        ผู้สอนต้องรู้จักการใช้อำนาจในห้องเรียน    การใช้อำนาจในห้องเรียนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ถ้าผู้สอนใช้อำนาจอย่างถูกต้อง   ก็จะได้รับผลดีในการปกครองชั้นเรียน   ถ้าผู้สอนใช้อำนาจผิดๆก็จะทำให้เกิดผลเสียได้   สิ่งที่กล่าวต่อไปนี้จะมีส่วนในการแปรเปลี่ยนอำนาจของผู้สอนไปได้ต่างๆกัน   คือ
-                   ความเคารพต่อบุคคล
-                   เรื่องส่วนตัว  และปัญหาทางวิชาชีพ
-                   เรื่องอคติ
3.            การปฏิบัติการสอน
              กาปฏิบัติการสอนของผู้สอนเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของผู้เรียนที่มีต่อผู้สอนเปลี่ยนไปในทางที่ดีหือทางที่เลว   การสอนของผู้สอนในที่นี้หมายความกว้างว่าการสอนผู้เรียนในชั้นเรียนอย่างเดียว   แต่หมายรวมไปถึง   การเตรียมตัวของผู้สอน   การจัดเตรียม  วิธีการสอน   การให้การบ้านแก่ผู้เรียน   ระบบการให้คะแนน   การสอบ  และนโยบายการตัดสินการสอบได้   หรือการสอบตก  เป็นต้น

แนวการจัดการเรียนการสอน

   1. การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรม อุปกรณ์การเรียนการสอนในแต่ละพฤติกรรม ควรยืดหยุ่นตามเหตุการณ์สภาพแวดล้อม ความสนใจ ความต้องการที่จำเป็นและความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
      2. ผู้สอนควรจัดแผนการเรียนการสอนโดยผสมผสานการสอนแบบตัวต่อตัวไปกับการสอนแบบกลุ่มย่อยและแบบกลุ่มขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพและยังคงมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหมาะสม
      3.  ผู้สอนควรคำนึงถึงวิธีการสอนเชิงพฤติกรรม   ซึ่งจะช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป   พร้อมทั้งเพิ่มความมั่นใจในตัวเองขึ้น   เช่น วิธีการให้แรงเสริม การสอนแบบกระตุ้นเตือน การเลียนแบบ การวิเคราะห์งาน การตะล่อมกล่อมเกลาพฤติกรรมนำทางไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์เป็นต้น
     4.  ผู้สอนควรจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำเอาทักษะที่เรียนรู้แล้วในชั้นเรียนไปฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียนในสถานศึกษาหรือที่บ้านของผู้เรียนให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีผลส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือตนเอง และดำรงชีวิตได้
     5.  ผู้สอนควรได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา สังคมและอาชีพ ให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล  เช่นเดียวกับผู้ปกครองของผู้เรียน
เวลาเรียน
            ตลอดแนวการพัฒนาหลักสูตรพิเศษฉบับนี้ ใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 7 ปี   แต่ละปีควรมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 40 สัปดาห์ ทั้งนี้รวมแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 240 ชั่วโมง  สำหรับช่วงอายุพัฒนาการ  0 3   ปี   ไม่ต่ำกว่า 360 ชั่วโมง สำหรับช่วงอายุพัฒนาการ 3 5 ปี   ไม่ต่ำกว่า 480 ชั่วโมง สำหรับช่วงอายุพัฒนาการ   5 7   ปี
การจัดเวลาเรียนในแต่ละช่วงอายุทางพัฒนาการ    ควรคำนึงถึงดังนี้
1.            ช่วงอายุทางพัฒนาการ 0 3 ปี
        มีเวลาเรียนในชั้นเรียนและที่บ้านต่อเนื่องกัน   โดยสัปดาห์หนึ่งมีเวลาเรียนในชั้นอย่างน้อย 3 วัน รวมแล้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ( วันละ 2 ชั่วโมง )   สำหรับการสอนทักษะแบบตัวต่อตัว เป็นกลุ่มย่อย รวมทั้งการฝึกทางกายภาพบำบัด
2.            ช่วงอายุทางพัฒนาการ 3 5 ปี
        ควรจัดเรียนในชั้นอนุบาลหรือชั้นพิเศษ    โดยสัปดาห์หนึ่งมีเวลาเรียนในชั้นเรียนอย่าง-น้อย 3 วัน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมง ( วันละ 3 ชั่วโมง ) สำหรับการสอนทักษะแบบตัวต่อตัว เป็นกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่   ซึ่งไม่นับรวมเวลาการฝึกโดยตรงจากนักบำบัด
3.            ช่วงอายุทางพัฒนาการ 5 7 ปี
         ควรเรียนในชั้นเด็กเล็กเพื่อเตรียมความพร้อม  หรือ ชั้นพิเศษ โดยสัปดาห์หนึ่งมีเวลาเรียนในชั้นเรียนอย่างน้อย  4 วัน   รวมแล้วไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง     แต่ไม่ควรเกินกว่า 18 ชั่วโมง    ( วันละ 3 5 ชั่วโมง  ) สำหรับการสอนทักษะแบบตัวต่อตัว  เป็นกลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่   ซึ่งทั้งนี้ไม่นับรวมเวลาการฝึกโดยตรงจากนักบำบัด
การประเมินผล
              การประเมินทักษะการเรียนตามแนวการพัฒนาหลักสูตรพิเศษฉบับนี้   เป็นการประเมินทักษะเพื่อสำรวจความสามารถขั้นพื้นฐานของผู้เรียน เพื่อวัตถุประสงค์ในการวางแผนการเรียนการสอน และเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน  ร่วมกับผู้ปกครองของผู้เรียน ศึกษานิเทศก์
และหรือนักวิชาการศึกษาพิเศษในเขตการศึกษาที่สถานศึกษานั้นสังกัดอยู่
       การประเมินทักษะการเรียนของแต่ละกลุ่มทักษะนั้น   อาจกระทำเป็นสองระยะคือ   ก่อนจัดแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล   และภายหลังหรือปลายปีการศึกษา นอกจากนี้อาจกระทำในระหว่างการเรียนการสอน    กล่าวคือ  เมื่อจะสิ้นสุดการสอนกิจกรรมแต่ละครั้งนั้น หรือตามที่กำหนดในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล   ทั้งนี้อาศัยการสังเกตพฤติกรรมตามพัฒนาการปกติ การสัมภาษณ์ซักถาม   การตรวจสอบผลงานที่นักเรียนปฏิบัติไว้   การทดสอบในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน   ประกอบกับความร่วมมือ   ความมั่นใจ   ช่วงความสนใจ สภาพการมองเห็น และสภาพการได้ยินในขณะทดสอบ   การบันทึกผลที่ได้จากการประเมินทักษะการเรียน    ให้จัดรวบรวมลงในสมุดบันทึกพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน  (หรือจัดเป็นสมุดบันทึกพัฒนาการในชั้นเรียน )   ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องอาจขอทำการตรวจสอบได้ง่าย    การพิจารณาผลประจำปีเพื่อ-
การจัดกลุ่ม  เลื่อน หรือปรับชั้นเรียนให้กับผู้เรียนนั้น สถานศึกษาควรจัดทำอย่างสม่ำเสมอ

รูปแบบการสอนแบบต่างๆ
(1)    การจัดการเรียนรู้แบบใช้คำถาม       (Questioning Method)
แนวคิด
                เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้เรียน   โดยผู้สอนจะป้อนคำถามในลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นคำถามที่ดี    สามารถพัฒนาความคิดผู้เรียน   ถามเพื่อให้ผู้เรียนใช้ความคิดเชิงเหตุผล วิเคราะห์ วิจารณ์ สังเคราะห์ หรือ การประเมินค่าเพื่อจะตอบคำถามเหล่านั้น
    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้คำถามมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.    ขั้นวางแผนการใช้คำถาม ผู้สอนควรจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้คำถามเพื่อ
วัตถุประสงค์ใด รูปแบบหรือประการใดที่จะสอดคล้องกับเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของบทเรียน
2.    ขั้นเตรียมคำถาม ผู้สอนควรจะเตรียมคำถามที่จะใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดย
การสร้างคำถามอย่างมีหลักเกณฑ์
3.   ขั้นการใช้คำถาม    ผู้สอนสามารถจะใช้คำถามในทุกขั้นตอนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้   และอาจจะสร้างคำถามใหม่ที่นอกเหนือจากคำถามที่เตรียมไว้ก็ได้   ทั้งนี้ต้องเหมาะสมกับเนื้อหาสาระและสถานการณ์นั้น ๆ
4.     ขั้นสรุปและประเมินผล
4.1      การสรุปบทเรียนผู้สอนอาจจะใช้คำถามเพื่อการสรุปบทเรียนก็ได้
4.2      การประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการประเมินผลตามสภาพจริง
    ประโยชน์
1.    ผู้เรียนกับผู้สอนสื่อความหมายกันได้ดี
2.    ช่วยให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.    สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
4.     ช่วยเน้นและทบทวนประเด็นสำคัญของสาระการเรียนรู้ที่เรียน
5.     ช่วยในการประเมินผลการเรียนการสอน ให้เข้าใจความสนใจที่แท้จริงของผู้เรียน   และวินิจฉัยจุดแข็งจุดอ่อนของผู้เรียนได้
6.     ช่วยสร้างลักษณะนิสัยการชอบคิดให้กับผู้เรียน ตลอดจนนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดชีวิต

(2)    วิธีสอนแบบโมเดลซิปปา
แนวคิด
                การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปา เป็นแนวคิดของทิศนา แขมมณี ที่กล่าวว่า ซิปปา (CIPPA) เป็นหลักการซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามหลัก “CIPPA  สามารถใช้วิธีการและกระบวนการที่หลากหลาย อาจจัดเป็นแบบแผนได้หลายรูปแบบ CIPPA MODEL เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า  รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การมีส่วนร่วมในการสร้างคามรู้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการแลกเปลี่ยนความรู้ การได้เคลื่อนไหวทางกาย การเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
                การจัดการเรียนการสอนแบบ CIPPA MODEL มาจากแนวคิดหลัก 5 แนวคิด ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานในการจัดการศึกษา ได้แก่
1.     แนวคิดการสร้างสรรค์ความรู้   (Contructivism)
2.     แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Cooperative Learning)
3.     แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (Learning Readiness)
4.     แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ (Process Learning)
5.     แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of Learning)

    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบโมเดลซิปปา (CIPPA MODEL) ตามรูปแบบของ ทิศนาแขมมณี มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้
ขั้นที่  1   การทบทวนความรู้เดิม
                ขั้นนี้เป็นการดึงความรู้เดิมของผู้เรียนในเรื่องที่จะเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของตน ซึ่งผู้สอนอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้สอนอาจใช้การสนทนาซักถามให้ผู้เรียนเล่าประสบการณ์เดิม หรือให้ผู้เรียนแสดงโครงความรู้เดิม (Graphic Organizer) ของตน

ขั้นที่ 2   การแสวงหาความรู้ใหม่
                ขั้นนี้เป็นการแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ของผู้เรียนจากแหล่งข้อมูล   หรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ   ซึ่งผู้สอนอาจจัดเตรียมมาให้ผู้เรียนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ   เพื่อให้ผู้เรียนไปแสวงหาก็ได้ในขั้นนี้ผู้สอนควรแนะนำแหล่งความรู้ต่าง ๆ  ให้แก่ผู้เรียนตลอดทั้งจัดเตรียมเอกสารสื่อต่าง ๆ
ขั้นที่ 3   การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล / ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม         
                ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อมูล / ความรู้ที่หามาได้ ผู้เรียนสร้างความหมายของข้อมูล / ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยใช้กระบวนต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น ใช้กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มในการอภิปราย และสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม
                ในขั้นนี้ ผู้สอนควรใช้กระบวนการต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรม เช่น กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสร้างลักษณะนิสัย กระบวนการทักษะทางสังคม ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง
ขั้นที่ 4   การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม
                ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของตนเองแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน
ขั้นที่ 5   การสรุปและจัดระเบียบความรู้
                ขั้นนี้เป็นขั้นของการสรุปความรู้ที่ได้รับทั้งหมด    ทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่    และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบ   เพื่อให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย   ผู้สอนควรให้ผู้เรียนสรุปประเด็นสำคัญประกอบด้วยมโนทัศน์หลัก และมโนทัศน์ย่อยของความรู้ทั้งหมด   แล้วนำมาเรียบเรียงให้ได้สาระสำคัญครบถ้วน   ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนจดเป็นโครงสร้างความรู้ จะช่วยให้จดจำข้อมูลได้ง่าย
ขั้นที่ 6    การปฏิบัติ หรือการแสดงผลงาน
                ขั้นนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตอกย้ำหรือตรวจสอบความเข้าใจของตน และช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากต้องมีการปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้ ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย ในขั้นนี้ผู้เรียนสามารถแสดงผลงานด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การอภิปราย  การแสดงบทบาทสมมติ เรียงความ วาดภาพ ฯลฯ และอาจจัดให้มีการประเมินผลงานโดยมีเกณฑ์ที่เหมาะสม
ขั้นที่ 7    การประยุกต์ใช้ความรู้
                ขั้นนี้เป็นขั้นของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการนำความรู้ความเข้าใจของตนไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพิ่มความชำนาญ ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำในเรื่องนั้น ๆ เป็นการให้โอกาสผู้เรียนใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
                หลังจากประยุกต์ใช้ความรู้ อาจมีการนำเสนอผลงานจากการประยุกต์อีกครั้งก็ได้  หรืออาจไม่มีการนำเสนอผลงานในขั้นที่ 6 แต่นำความมารวม แสดงในตอนท้ายหลังขั้นการประยุกต์ใช้ก็ได้ เช่นกัน 

ขั้นที่ 1-6 เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ (Construction of Knowledge)
ขั้นที่ 7 เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ (Application) จึงทำให้รูปแบบนี้มีคุณสมบัติครบตามหลัก CIPPA
ประโยชน์
1.     ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้
2.     ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดที่หลากหลาย เป็นประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ได้ในการดำเนินชีวิต

(3)     การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย    (Induction  Method)
แนวคิด
                กระบวนการที่ผู้สอนจากรายละเอียดปลีกย่อย  หรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่  หรือกฎเกณฑ์  หลักการ  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุป  โดยการนำเอาตัวอย่างข้อมูล  เหตุการณ์  สถานการณ์หรือปรากฏการณ์  ที่มีหลักการแฝงอยู่มาให้ผู้เรียนศึกษา  สังเกต  ทดลอง  เปรียบเทียบหรือวิเคราะห์จนสามารถสรุปหลักการหรือกฎเกณฑ์ได้ด้วยตนเอง
    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.   ขั้นเตรียมการ เป็นการเตรียมตัวผู้เรียน   ทบทวนความรู้เดิมหรือปูพื้นฐานความรู้
2.   ขั้นเสนอตัวอย่าง   เป็นขั้นที่ผู้สอนนำเสนอตัวอย่าง      ข้อมูล   สถานการณ์   เหตุการณ์  ปรากฏการณ์  หรือแนวคิดให้ผู้เรียนได้สังเกตลักษณะ
และคุณสมบัติของตัวอย่างเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบสรุปเป็นหลักการ  แนวคิด  หรือกฎเกณฑ์  ซึ่งการนำเสนอตัวอย่างควรเสนอหลายๆตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนสามารถสรุปเป็นหลักการหรือหลักเกณฑ์ต่างๆได้
3.     ขั้นเปรียบเทียบ   เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้สังเกต   ค้นคว้า   วิเคราะห์   รวบรวม   เปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบในตัวอย่าง  แยกแยะข้อแตกต่าง   มองเห็นความสัมพันธ์ในรายละเอียดที่เหมือนกัน และ ต่างกัน
              ในขั้นนี้หากตัวอย่างที่ให้แก่ผู้เรียนเป็นตัวอย่างที่ดี  ครอบคลุมลักษณะหรือคุณสมบัติสำคัญๆของหลักการ  ทฤษฎีก็ย่อมจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาและวิเคราะห์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว  แต่หากผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ  ผู้สอนอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติม  หรือใช้วิธีกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดค้นต่อไป  โดยการตั้งคำถามกระตุ้นแต่ไม่ควรให้ในลักษณะบอกคำตอบ  เพราะวิธีสอนนี้มุ่งให้ผู้เรียนได้คิด  ทำความเข้าใจด้วยตนเอง  ควรให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์เป็นกลุ่มย่อย  เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  โดยเน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม  ในการอภิปรายกลุ่มอย่างทั่วถึง  และผู้สอนไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งเร้าผู้เรียนจนเกินไป
4.     ขั้นกฎเกณฑ์    เป็นการให้ผู้เรียนนำข้อสังเกตต่างๆ   จากตัวอย่างมาสรุปเป็นหลักการ   กฎเกณฑ์หรือนิยามด้วยตัวผู้เรียนเอง
5.    ขั้นนำไปใช้  ในขั้นนี้ผู้สอนจะเตรียมตัวอย่างข้อมูล  สถานการณ์  เหตุการณ์  ปรากฏการณ์หรือความคิดใหม่ๆ  ที่หลากหลายมาให้ผู้เรียนใช้ในการฝึกความรู้  ข้อสรุปไปใช้ หรือ  ผู้สอนอาจให้โอกาสผู้เรียนช่วยกันยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้เรียนเองเปรียบเทียบก็ได้  เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น  รวมทั้งเป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนว่าหลักการที่ได้รัยนั้น  สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและทำแบบฝึกหัดได้หรือไม่หรือเป็นการประเมินว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่นั่นเอง
        ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญๆ ด้วยตนเอง โดยการทำความ
เข้าใจความหมาย แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ของความคิดต่างๆ ให้แจ่มแจ้งก่อนนำมาสรุปกฎเกณฑ์ ครูผู้สอนมีหน้าที่ในการกระตุ้นและให้แนวทางการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองของนักเรียน
2. เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการสรุปหลักเกณฑ์จากรายละเอียดอย่างมีระบบ
    ขั้นตอนในการสอนแบบอุปนัย
1. ขั้นเตรียมนักเรียน เป็นการเตรียมความรู้และแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน
ด้วยการทบทวนความรู้เดิม กำหนดจุดมุ่งหมาย และอธิบายความมุ่งหมายให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
2. ขั้นเสนอตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่างๆ ให้นักเรียนพิจารณาเปรียบเทียบและสรุปกฎเกณฑ์
การเสนอตัวอย่างควรเสนอหลายๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้
3. ขั้นหาองค์ประกอบรวม คือ การให้นักเรียนมีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันของ
องค์ประกอบจากตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์
4. ขั้นสรุปข้อสังเกตต่างๆ จากตัวอย่างเป็นกฎเกณฑ์ นิยาม หลักการ ด้วยตัวนักเรียนเอง
5. ขั้นนำข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์ที่ได้จากการทดลองหรือสิ่งที่เข้าใจไปใช้ในสถานการณ์อื่น
    ข้อดีของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. นักเรียนสามารถสร้างความเข้าใจในรายละเอียด และหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนจดจำนาน
2. นักเรียนได้รับการฝึกทักษะการคิดตามหลักการ เหตุผล และหลักวิทยาศาสตร์
3. นักเรียนเข้าใจวิธีการในการแก้ปัญหาและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประวันได้ดี
    ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. ในการสอนแต่ละขั้น ครูควรให้โอกาสนักเรียนคิดอย่างอิสระ
2. ครูควรสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการเพื่อลดความเครียดและเบื่อหน่าย
3. วิธีสอนแบบอุปนัยจะให้ผลสัมฤทธิ์สูงถ้าครูสร้างความเข้าใจทุกขั้นตอนอย่างดีก่อนสอน                ประโยชน์
1.    เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความรู้ด้วยตนเอง   ทำให้เกิดความเข้าใจและจดจำได้นาน
2.   เป็นวิธีการที่ฝึกให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการสังเกต  คิดวิเคราะห์  เปรียบเทียบ  ตามหลักตรรกศาสตร์และหลักวิทยาศาสตร์  สรุปด้วยตนเองอย่างมีเหตุผลอันจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้  ซึ่งใช้ได้ดีกับการวิชาวิทยาศาสตร์
3.   เป็นวิธีการที่ผู้เรียนได้ทั้งเนื้อหาความรู้    และกระบวนการซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆได้

(4)      การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน
แนวคิด
                เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยสร้างความรู้จากกระบวนการทำงานกลุ่ม ตัวปัญหาจะเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผล และการสืบค้นหาข้อมูลเพื่อเข้าใจกลไกของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา

     การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
        ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
1.  ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาจัดสถานการณ์ต่าง ๆ  กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ  มองเห็นปัญหากำหนดสิ่งที่เป็นปัญหาที่ผู้เรียนอยากรู้อยากเรียน และเกิดความสนใจที่จะค้นหาคำตอบ
2.  ทำความเข้าใจกับปัญหา ผู้เรียนจะต้องสามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อกับปัญหาได้
3.  ดำเนินการศึกษาค้นคว้า กำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนและดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างหลากหลาย
4.  สังเคราะห์ความรู้ ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อภิปรายผลและสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
5.  สรุปและประเมินค่าของคำตอบ ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปสรุปผลงานของกลุ่มตนเอง ประเมินผลงานว่าข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นคว้ามีความเหมาะสมเพียงใด โดยการตรวจสอบแนวคิดภายในกลุ่มของตนเองอย่างอิสระ ทุกกลุ่มร่วมกันสรุปองค์ความรู้ในภาพรวมของปัญหาอีกครั้ง
6.  นำเสนอและประเมินผลงาน ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้มาจัดระบบองค์ความรู้และนำเสนอในรูปแบบผลงานที่หลากหลาย ผู้เรียนทุกคนและผู้เกี่ยวข้องกับปัญหา ร่วมกันประเมินผลงาน
      ประโยชน์
                มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกฝนการสร้างองค์ความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีความหมายต่อผู้เรียน

(5)   วิธีสอนแบบโครงงาน    (Project Method)
แนวคิด
                เป็นวีการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า หรือปฏิบัติงานตามหัวข้อที่ผู้เรียนสนใจ ซึ่งผู้เรียนจะต้องฝึกกระบวนการทำงานอย่างมีขั้นตอน มีการวางแผนในการทำงานหรือการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ จนการดำเนินงานสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ส่งผลให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้อย่างหลากหลาย อันเป็นประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้วีการสอนโครงงานสามารถสอนต่อเนื่องกับวีสอนแบบบูรณาการได้ ทั้งในรูปแบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ และบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาบูรณาการเพื่อทำโครงงาน
     การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
1.   ขั้นกำหนดปัญหา หรือสำรวจความสนใจ ผู้สอนเสนอสถานการณ์หรือตัวอย่างที่เป็น
ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้เรียนหาวีการแก้ปัญหาหรือยั่วยุให้ผู้เรียนมีความต้องการใคร่เรียนใคร่รู้ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2.   ขั้นกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียน ผู้สอนแนะนำให้ผู้เรียนกำหนดจุดมุ่งหมายให้
ชัดเจนว่าเรียนเพื่ออะไร จะทำโครงงานนั้นเพื่อแก้ปัญหาอะไร ซึ่งทำให้ผู้เรียนกำหนดโครงงานแนวทางในการดำเนินงานได้ตรงตามจุดมุ่งหมาย
3.   ขั้นวางแผนและวิเคราะห์โครงงาน ให้ผู้เรียนวางแผนแก้ปัญหา ซึ่งเป็นโครงงานเดี่ยว
หรือกลุ่มก็ได้ แล้วเสนอแผนการดำเนินงานให้ผู้สอนพิจารณา ให้คำแนะนำช่วยเหลือและข้อเสนอแนะการวางแผนโครงงานของผู้เรียน ผู้เรียนเขียนโครงงานตามหัวข้อซึ่งมีหัวข้อสำคัญ (ชื่อโครงงาน หลักการและเหตุผลวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เจ้าของโครงการ ที่ปรึกษาโครงการ แหล่งความรู้ สถานที่ดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ วิธีดำเนินการ เครื่องมือที่ใช้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ)
4.    ขั้นลงมือปฏิบัติหรือแก้ปัญหา ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติหรือแก้ปัญหาตามแผนการที่
กำหนดไว้โดยมีผู้สอนเป็นที่ปรึกษา คอยสังเกต ติดตาม แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักสังเกต เก็บรวบรวมข้อมูล บันทึกผลดำเนินการด้วยความมานะอดทน มีการประชุมอภิปราย ปรึกษาหารือกันเป็นระยะ ๆ ผู้สอนจะเข้าไปเกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น ผู้เรียนเป็นผู้ใช้ความคิด ความรู้ ในการวางแผนและตัดสินใจทำด้วยตนเอง
5.   ขั้นประเมินผลระหว่างปฏิบัติงาน ผู้สอนแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักประเมินผลก่อน
ดำเนินการระหว่างดำเนินการและหลังดำเนินการ คือรู้จักพิจารณาว่าก่อนที่จะดำเนินการมีสภาพเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไรระหว่างที่ดำเนินงานตามโครงงานนั้น ยังมีสิ่งใดที่ผิดพลาดหรือเป็นข้อบกพร่องอยู่ ต้อแก้ไขอะไรอีกบ้าง มีวิธีแก้ไขอย่างไร เมื่อดำเนินการไปแล้วผู้เรียนมีแนวคิดอย่างไร มีความพึงพอใจหรือไม่ ผลของการดำเนินการตามโครงงาน ผู้เรียนได้ความรู้อะไร ได้ประโยชน์อย่างไร และสามารถนำความรู้นั้นไปพัฒนาปรับปรุงงานได้อย่างดียิ่งขึ้น หรือเอาความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร โดยผู้เรียนประเมินโครงงานของตนเองหรือเพื่อนร่วมประเมิน จากนั้นผู้สอนจึงประเมินผลโครงงานตามแบบประเมิน ซึ่งผู้ปกครองอาจจะมีส่วนร่วมในการประเมินด้วยก็ได้
6.   ขั้นสรุป รายงานผล และเสนอผลงาน เมื่อผู้เรียนทำงานตามแผนและเก็บข้อมูลแล้ว
ต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปและเขียนรายงานเพื่อนำเสนอผลงาน ซึ่งนอกเหนือจากรายงานเอกสารแล้ว อาจมีแผนภูมิ แผนภาพ กราฟ แบบจำลอง หรือของจริงประกอบการนำเสนอ อาจจัดได้หลายรูปแบบ เช่น จัดนิทรรศการ การแสดงละคร ฯลฯ


   ประโยชน์
1.   เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนมีบทบาท มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ปฏิบัติ
จริงคิดเอง ทำเอง อย่างละเอียดรอบคอบ อย่างเป็นระบบ
2.   ผู้เรียนรู้จักวีแสวงหาข้อมูล สร้างองค์ความรู้และสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง
3.   ผู้เรียนมีทักษะในการแก้ปัญหา มีทักษะกระบวนการในการทำงาน มีทักษะการเคลื่อนไหวทางกาย
4.   ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ ทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้
5.   ฝึกความเป็นประชาธิปไตย คือการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีเหตุผล มีการยอมรับในความรู้ ความสามารถซึ่งกันและกัน
6.   ผู้เรียนได้ฝึกลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงาน เช่น การจดบันทึกข้อมูล การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ความรับผิดชอบ ความซื่อตรง ความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน รู้จักทำงานอย่างเป็นระบบ ทำงานอย่างมีแผน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
7.    ผู้เรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถนำความรู้ ความคิด หรือแนวทางที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิต หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ได้

(6)      การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย      (Deductive Method)
แนวคิด
                กระบวนการที่ผู้สอนจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎ  ทฤษฎี  หลักเกณฑ์  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปตามวัตถุประสงค์ในบทเรียน  จากนั้นจึงให้ตัวอย่างหลายๆตัวอย่าง  หรืออาจให้ผู้เรียนฝึกการนำทฤษฎี  หลักการ  หลักเกณฑ์  กฎหรือข้อสรุปไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย   หรืออาจเป็นหลักลักษณะให้ผู้เรียนหาหลักฐานเหตุผลมาพิสูจน์ยืนยันทฤษฎี  กฎหรือข้อสรุปเหล่านั้น  การจัดการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล  ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  และมีความเข้าใจในกฎเกณฑ์  ทฤษฎี  ข้อสรุปเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง การสอนแบบนี้อาจกล่าวได้ว่า  เป็นการสอนจากทฤษฎีหรือกฎไปสูตัวอย่างที่เป็นรายละเอียด
      การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
    การสอนแบบนิรนัยมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.    ขั้นกำหนดขอบเขตของปัญหา   เป็นการนำเข้าสูบทเรียนโดยการเสนอปัญหา หรือระบุสิ่งที่จะสอนในแง่ของปัญหา   เพื่อยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ   ปัญหาที่จะนำเสนอควรจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของชีวิตและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
2.   ขั้นแสดงและอธิบายทฤษฎี   หลักการ   เป็นการนำเอาทฤษฎี   หลักการ   กฎ   ข้อสรุปที่ต้องการสอนมาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทฤษฎี   หลักการนั้น
3.    ขั้นใช้ทฤษฎี   หลักการ   เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเลือกทฤษฎี   หลักการ   กฎ   ข้อสรุป    ที่ได้จากการเรียนรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาที่กำหนดไว้ได้
4.    ขั้นตรวจสอบและสรุป  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะตรวจสอบและสรุปทฤษฎี  หลักการ  กฎ  ข้อสรุปหรือนิยามที่ใช้ว่าถูกต้อง  สมเหตุสมผลหรือไม่  โดยอาจปรึกษาผู้สอน  หรือค้นคว้าจากตำราต่างๆ  หรือจากการทดลอง  ข้อสรุปที่ได้พิสูจน์หรือตรวจสอบว่าเป็นจริง  จึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
5.    ขั้นฝึกปฏิบัติ   เมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจในทฤษฎี   หลักการ  กฎ  ข้อสรุป  พอสมควรแล้ว  ผู้สอนเสนอสถานการณ์ใหม่ให้ผู้เรียนฝึกนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆที่หลากหลาย
  
     ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบนิรนัย
1. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาโดยยึดกฎ สูตร และหลักเกณฑ์ต่างๆ
2. เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจในการทำงาน ด้วยการพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริง
       ขั้นตอนของวิธีสอนแบบนิรนัย
1. ขั้นอธิบายปัญหาเป็นขั้นของการกำหนดปัญหาและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะ
หาคำตอบในการแก้ปัญหา
2. ขั้นอธิบายกฎหรือหลักการเพื่อการแก้ปัญหา เป็นการนำเอาข้อสรุป กฎเกณฑ์ หลักการ
มาอธิบายให้นักเรียนได้เลือกใช้ในการแก้ปัญหา
3. ขั้นตัดสินใจ เป็นขั้นที่นักเรียนจะเลือกกฎ หรือหลักการ หรือข้อสรุปมาใช้ในการแก้ปัญหา
4. ขั้นพิสูจน์หรือตรวจสอบ เป็นขั้นการนำหลักฐานหรือเหตุผลมาพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ตามหลักการนั้นๆ
      ข้อดีของวิธีสอนแบบนิรนัย
   1. วิธีสอนแบบนิรนัยใช้ได้กับการสอนเนื้อหาวิชาง่ายๆ เนื่องจากหลักการหรือกฎเกณฑ์
ต่างๆจะสามารถอธิบายให้นักเรียนเข้าใจความหมายได้ดี เป็นการอธิบายจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย
    2. เป็นวิธีสอนที่ฝึกทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
      ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบนิรนัย
1. ครูผู้สอนต้องศึกษากฎเกณฑ์ หลักการหรือข้อสรุปต่างๆ อย่างแม่นยำก่อนทำการสอน
2. การสอนวิธีนี้ครูเป็นผู้กำหนดความคิดรวบยอดให้นักเรียน จึงไม่ช่วยฝึกทักษะในการคิด
หาเหตุผลและแก้ปัญหาด้วยตัวนักเรียนเองได้มากเท่าที่ควร
    ประโยชน์
1.  เป็นวิธีการที่ช่วยในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้ง่าย   รวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
2.  ใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้ไม่มากนัก
3.  ฝึกให้ผู้เรียนรู้ได้นำเอาทฤษฎี   หลักการ   กฎ   ข้อสรุปหรือนิยามไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ
4.  ใช้ได้ผลดีในการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปศึกษาและคณิตศาสตร์
5.   ฝึกให้ผู้เรียนมีเหตุผล   ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ   โดยไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นจริง

(7)     วิธีสอนแบบอภิปราย (Discussion Method)
         เป็นการสอนโดยที่นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง การอภิปรายกระทำระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนระหว่างนักเรียนด้วยกัน โดยมีครูเป็นผู้ประสานงาน วิธีการสอนแบบอภิปรายจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น พูดเป็น และสร้างความเป็นประชาธิปไตย
     ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบอภิปราย
1. เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบประชาธิปไตย
2. เพื่อฝึกทักษะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
3. เพื่อฝึกทักษะในการพูด และการแสดงความคิดสร้างสรรค์
   
  ขั้นตอนของวิธีสอนแบบอภิปราย
1. ขั้นนำเข้าสู่หัวข้อการอภิปรายเป็นขั้นการกระตุ้นหรือเร้าความสนใจของนักเรียนให้มีความ
สนใจร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น
2. ขั้นอภิปราย ให้แบ่งนักเรียนเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้อภิปรายซึ่งอยู่หน้าชั้นเรียนกับฝ่ายผู้ฟัง
ฝ่ายผู้อภิปรายประกอบด้วยประธาน 1 คนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเป็นผู้เสนอปัญหา สรุปประเด็นสำคัญ และนำการอภิปรายไม่ให้ออกนอกทาง ตัดบทสมาชิกที่ถกเถียงกัน การนำเข้าสู่หัวข้อการอภิปราย ประธานต้องแนะนำหัวข้อที่จะอภิปรายจากนั้นแนะนำสมาชิกผู้ร่วมอภิปรายแต่ละคน
       ข้อดีของวิธีสอนแบบอภิปราย
1. ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
2. พัฒนาสติปัญญาของนักเรียนด้านการคิดหาเหตุผล
3. ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ของนักเรียนเพื่อนำมาใช้ในการอภิปราย
4. ผู้เรียนสามารถนำวิธีการอภิปรายไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
        ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบอภิปราย
1. หากผู้ดำเนินการอภิปรายไม่มีความสามารถในการอภิปราย จะทำให้การอภิปรายไม่
สัมฤทธิ์ผล และสิ้นเปลืองเวลามาก
2. หากการตั้งหัวข้อไม่ดีจะทำให้ไม่ได้ข้อสรุปของการอภิปราย
3. ครูผู้สอนต้องควบคุมให้การอภิปรายดำเนินไปตามหลักการที่ถูกต้อง เช่น ประธานต้องไม่
ใช้ความคิดของตนเองชี้นำจนผู้ร่วมอภิปรายไม่ใช้ความคิดของตนเอง
(8)    วิธีสอนแบบแสดงบทบาท (Role Playing Method)
              วิธีสอนแบบแสดงบทบาทเป็นวิธีสอนที่ใช้การแสดงบทบาทสมมุติ หรือการเทียบเคียง  สถานการณ์ที่เป็นจริงมาเป็นเครื่องมือในการสอน โดยที่ครูสร้างสถานการณ์สมมุติและบทบาทขึ้นมาให้นักเรียนได้แสดงออกตามที่ตนคิดว่าควรจะเป็น การแสดงบทบาทอาจกระทำได้ทั้งทางด้านความรู้ความคิด และพฤติกรรมของผู้แสดง วิธีการนี้จะสร้างความเข้าใจและความรู้สึกให้เกิดกับนักเรียนได้ดี
     ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบแสดงบทบาท
1. เพื่อฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นทีม
2. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม
3. เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหา
      ขั้นตอนของวิธีสอนแบบแสดงบทบาท
1. เลือกปัญหาที่นักเรียนทำความเข้าใจยาก จำยากสับสน    หรือกล่าวตามสภาพจริงไม่ได้มา  เป็นเรื่องที่จะแสดงบทบาท
2. ให้นักเรียนร่วมกันกำหนดตัวบุคคลให้เหมาะสมกับบทบาทนั้นๆ   เท่าที่ลักษณะของบุคคล  จะเอื้ออำนวยให้กับสภาพความเป็นจริง
     ข้อดีของวิธีสอนแบบแสดงบทบาท
1. นักเรียนได้เรียนพร้อมกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
2. สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย และจดจำได้ดี
3. ช่วยพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
4. ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน
  ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบบทบาท
1. ครูผู้สอนต้องมีภาระในการเตรียมสอนมากขึ้น และการแสดงบทบาทบางครั้งใช้เวลามาก  ทั้งในการแสดงจริงและการฝึกซ้อม
2. การแสดงบทบาทบางครั้งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
3. การกำหนดเรื่องที่นำมาแสดงบทบาทต้องมีสาระสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

(9)     วิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)
          เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนให้ความรู้ตามเนื้อหาสาระด้วยการเล่าอธิบายแสดงสาธิตโดยที่ผู้เรียนเป็นผู้ฟังเพียงอย่างเดียว อาจเปิดโอกาสให้ซักถามปัญหาได้บ้างในตอนท้ายของการบรรยาย
       ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบบรรยาย
1. เป็นการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระที่นำเสนอโดยครูผู้สอน ผู้บรรยายจะเสนอปัญหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา และสรุปด้วยว่าวิธีการใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามหลักการ
2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลายๆแนวคิดก่อนที่จะสรุปเป็นข้อคิดหรือทางเลือกที่เหมาะสม
       ข้อดีของวิธีสอนแบบบรรยาย
1. ดำเนินการสอนได้รวดเร็ว
2. ง่ายต่อการสอนเพราะไม่ต้องเตรียมสื่อการสอน เพียงแต่ครูเตรียมเนื้อหาสาระที่จะสอนล่วงหน้าก็เพียงพอ
3. สามารถใช้สอนได้ในเวลาอันจำกัด ส่งเสริมทักษะในการย่อและเขียนสรุป
    ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบบรรยาย
1. หากผู้เรียนมีความตั้งใจฟังการบรรยาย จะช่วยเสริมทักษะในการสรุปความ
2. ผู้สอนต้องรู้จักการสร้างบรรยากาศด้วยวาทศิลป์ เพื่อมิให้ผู้ฟังสูญเสียความสนใจ
3. สาระที่ได้จากการบรรยายมิได้เกิดจากการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียนโดยตรง แต่เป็นสาระความรู้ที่ได้จากการบอกเล่าจากครูผู้สอน
4. ความรู้ที่ได้รับจากการฟังเพียงอย่างเดียวอาจลืมง่าย เป็นความทรงจำที่ไม่ถาวร

(10)   วิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลอง (Laboratory Method)
       วิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลอง เป็นวิธีสอนที่ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือปฏิบัติหรือทำการทดลองค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง วิธีสอนแบบปฏิบัติหรือการทดลองแตกต่างจากวิธีสอนแบบสาธิต คือ วิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลองผู้เรียนเป็นผู้กระทำเพื่อพิสูจน์หรือค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ส่วนวิธีสอนแบบสาธิตนั้นครูหรือนักเรียนเป็นผู้สาธิตกระบวนการและผลที่ได้รับจากการสาธิต เมื่อจบการสาธิตแล้วผู้เรียนต้องทำตามกระบวนการและวิธีการสาธิตนั้น
       ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลอง
1. เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติหรือทดลองค้นหาความรู้ด้วยตนเอง
2. เพื่อส่งเสริมการใช้ประสบการณ์ตรงในการแก้ปัญหา
3. เพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าแทนการจดจำจากตำรา
     
    
     ขั้นตอนของวิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลอง
1. ขั้นกล่าวนำ
2. ขั้นเตรียมดำเนินการ
3. ขั้นดำเนินการทดลอง
4. ขั้นเสนอผลการทดลอง
5. ขั้นอภิปรายและสรุปผล
       ข้อดีของวิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือทดลอง
1. ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของการปฏิบัติการหรือทดลอง
2. เป็นการเรียนรู้จากการกระทำ หรือเป็นการเรียนรู้จากสภาพจริง
3. เสริมสร้างความคิดในการหาเหตุผล
4. เป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
5. เป็นการเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสหลายด้าน
6. การปฏิบัติการหรือทดลอง นอกจากช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเรียนรู้แล้ว ยังทำให้นักเรียนมีความสนใจและตั้งใจเรียนเพราะได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
         ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือทดลอง
1. ผู้เรียนทุกคนต้องมีโอกาสใช้เครื่องมือและ อุปกรณ์เท่าๆ กันจึงจะได้ผลดี
2. ต้องมีการควบคุมความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ
3. ต้องมีเวลาในการเตรียมจัดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทดลองอย่างเพียงพอ
4. ต้องใช้งบประมาณมาก เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้ในการทดลองมีราคาแพง หากไม่เตรียมการสอนที่ดีพอ ผลที่ได้จะไม่คุ้มค่า
5. ต้องกำหนดสัดส่วนจำนวนนักเรียนต่อพื้นที่ที่ปฏิบัติการหรือทดลองให้เหมาะสม โดยปกติ   แล้ววิธีสอนในปฏิบัติการหรือการทดลองทำได้กับนักเรียนจำนวนน้อย

สรุป
      การเรียนการสอนเป็นกระบวนการในการให้ความรู้ที่กำหนดจุดประสงค์ที่แน่นอน  และมีองค์ประกอบอื่นๆมาเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ        องค์ประกอบของการเรียนการสอน   ได้แก่   ผู้สอน  เนื้อหา  สื่อการสอน  ผู้เรียน  การประเมินผลและอุปสรรคการเรียนการสอน
      ระบบการเรียนการสอน  จัดได้ในลักษณะแตกต่างกันออกไปในหลายรูปแบบ   แต่ทุกระบบการเรียนการสอนก็มีจุดมุ่งหวังที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้น   ในระบบการเรียนการสอน  ครู  จะต้องมีหลักในการจัดการเรียนการสอนที่ดี  จึงทำให้การเรียนการสอนนั้นมีคุณภาพ   และประสิทธิภาพตามที่ต้องการได้เป็นอย่างดี                              รูปแบบการสอนทั้งหมดที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นเพียงแนวทางของกลวิธีการสอนเพื่อแสดงให้เห็นเป็นข้อคิดสำหรับผู้สอนที่    เริ่มเข้าใจ เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างความคิด ความสนใจต่อเนื่องในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี เปรียบประดุจต้นไม้ที่งอกจากเมล็ดซึ่งกำลังเติบโตขึ้นและมีความสวยงามได้จากการปรุงแต่งอย่างสร้างสรรค์ของผู้ดูแล
     กลวิธีการสอนความคิดสร้างสรรค์ยังมีอีกมากมายสมควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดแนวคิดในการประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสอนให้เหมาะสมกับสาขาวิชาของตนเอง









    


  









  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น